วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รำบายศรีสุ๋ขวัญ

ประวัติความเป็นมา
            การแสดงชุดรำบายศรีสู่ขวัญ เป็นการแสดงของภาคอีสาน  ซึ่งใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญหรือเชิญขวัญในการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกสำคัญๆ ซึ่งเป็นแขกที่มีเกียรติหรือแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างถิ่น ชาวอีสานจะมีการจัดต้อนรับโดยจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยนำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีอย่างสวยงามประดับด้วยดอกไม้และเครื่องหอม มีด้ายสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือ ซึ่งจะให้ผู้เฒ่าหรือผู้ทรงคุณวุฒิ วัยวุฒิ เพื่อความเป็นสิริมงคลโดยมีพานบายศรีหรือที่เรียกว่า
พาขวัญ’’ โดยจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ ตามท่วงทำนองของชาวบ้านในคำเรียกขวัญนั้นจะมีทั้งคาถาที่เป็นภาษาบาลี และคำเรียกขวัญภาษาถิ่น หรือที่เรียกว่า สูตรขวัญ ’’ซึ่งคำว่าสูตรขวัญนั้นยากแก่การเข้าใจของผู้มาเยือน  จึงมีการจัดทำชุดรำบายศรีขึ้นเพื่อให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจเพราะมีคำร้องที่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย  เนื้อร้องแต่งโดยอาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล   ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่  แต่เนื้อร้องอาจจะผิดเพี้ยน  จากเดิมไปบ้าง

เครื่องดนตรี
            เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงชุด  รำบายศรีสู่ขวัญ ใช้วงดนตรีพื้นบ้าน
วงโปงลาง มีเครื่องดนตรีดังนี้โปงลาง     กลองยาว  กลองใหญ่  ไหซอง พิณ   เบส         แคน  โหวด      ฉาบเล็ก   ฉาบใหญ่  เกราะ
การแสดง               ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน
โอกาสที่ใช้แสดง    ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ในการต้อนรับครั้งสำคัญๆ ปัจจุบันอาจใช้ในงาน
                               รื่นเริงและงานเบ็ดเตล็ดทั่วไป
การแต่งกาย            สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวจรดข้อมือ  ห่มสไบขิด  และนุ่งผ้าซิ่นคลุมเข่า 
                                ผมเกล้ามวยติดดอกไม้ ด้านซ้าย สวมเครื่องประดับเงินตกแต่งให้สวยงาม  
บทร้องเพลงบายศรีสู่ขวัญ

 ผู้แต่งเนื้อร้อง  อาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล    
                       
มาเถิดเย้อ มาเย้อขวัญเอย  มาเย้อขวัญเอย
              หมู่ชาวเมืองมา เบื้องขวานั่งส่ายลาย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว
              ยอพาขวัญอันเพริศแพร้ว  ขวัญมาแล้ว มาสู่คิงกม
                          เกศเจ้าหอมลอยลม  ทัดเอื้องชวนชมเก็บเอาไว้บูชา
                          ยามฝนพรำเจ้าอย่าแข็ง  แดดร้อนแรงเจ้าอย่าครา
                          อยู่ที่ไหนจงมา รัดด้ายไชยามาคล้องผ้าแพรกระเจา   ( ดนตรี )
                                            อย่าเพลินเผลอ  มาเย้อขวัญเอย  มาเย้อขวัญเอย 
                          อยู่แดนดินใด  ฤาฟ้าฟากใด  ขอให้มาเฮือนเฮา
                          เพื่อนอย่าคิดอะไรสู่เขา ขออย่าเว้าขวัญเจ้าจะตรม
                          หมอกน้ำค้างพร่างพรม  ขวัญอย่าเพลินชมป่าเขาลำนำไพร
                          เชิญไหลทาประทินกลิ่นหอม  ดมพยอมให้ชื่นใจ
                          เหล่าข้าน้อยแต่งไว้  ร้อยพวงมาลัยจะคล้องให้สวยรวย
 ความหมายของเพลง
                        ขอเชิญพวกเรา  มาร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเรียกขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว 
           โดย  ใช้ด้ายศิริมงคลผูกแขน  ตามประเพณีท้องถิ่น 

 

รายงานการใช้เอกสารประกอบการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระที่ 3 นาฏศิลป์

รายงาน                                  การใช้เอกสารประกอบการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
                                                                        สาระนาฏศิลป์  เรื่อง รำบายศรีสู่ขวัญ  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
โรงเรียนวัดลำกะดาน
ผู้รายงาน                               นางรุ่งทิพย์  มากไมตรี
ตำแหน่ง ครู  วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานศึกษา                           โรงเรียนวัดลำกะดาน  สำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
ปีที่ศึกษา                                2554

บทคัดย่อ

การใช้เอกสารประกอบการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์  เรื่อง รำบายศรีสู่ขวัญ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 นี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการสอนตามเกณฑ์มาตรฐาน  80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังเรียนของนักเรียนจากการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการสอน ที่สร้างขึ้น และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดลำกะดานที่มีต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์  เรื่อง รำบายศรีสู่ขวัญ กลุ่มประชากร  คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนวัดลำกะดาน จำนวน 30  คน เนื่องจากเป็นนักเรียนที่ผู้รายงานรับผิดชอบการสอน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ เอกสารประกอบการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบหลังเรียน แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและ แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการสอน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าร้อยละ และค่าคะแนนที (t-test)
                ผลการศึกษาพบว่า
                1. ประสิทธิภาพเอกสารประกอบการสอน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  มีประสิทธิภาพ เท่ากับ  82.23/ 80.50
                2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ร้อยละ 38.67  ค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.66
                3.  ความพึงพอใจของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์  เรื่อง รำบายศรีสู่ขวัญ อยู่ในระดับมาก                  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.90 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.62